ประวัติถ้ำละว้า
ผู้ค้นพบคือ คุณลุงผิน ดอกเข็ม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 ซึ่งคุณลุงผินได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำแควน้อยอยู่ห่างจากภูเขาอันเป็นที่ตั้งของถ้ำละว้าประมาณ 150 เมตร ลุงผินมีอาชีพทำไร่ ตัดไม่รวก ไม้ไผ่ และล่าสัตว์ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบเป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาวันหนึ่งลุงผินได้เข้าไปล่าสัตว์ตามปกติและได้ยิงเม่นตัวหนึ่ง แต่เม่นตัวนั้นเกิดไม่ตายและวิ่งหนีไป ลุงผินจึงตามรอยเลือดของเม่นไป จนพบว่าเม่นได้วิ่งหนีหลบเข้าไปภายในถ้ำแห่งหนึ่งจึงตามเข้าไปแล้วพบว่า ภายในถ้ำนั้นใหญ่โตกว้างขวาง และสวยงามมาก
มีคนเล่าต่อๆ กันมาว่าหลังจากวันที่ลุงผินได้พบถ้ำนั้นลุงผินได้นอนฝันว่าเจ้าของถ้ำมาบอกว่าห้ามไม่ให้ลุงผินบอกกับใครๆ ว่าได้พบถ้ำนี้ แต่อยู่มาไม่นาน ลุงผินได้บอกกับลูกชายของตัวเองที่มีชื่อว่า กู้ และชาวบ้านคนอื่นๆ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ลุงผินต้องตาบอด
ส่วนทางด้านของลุงกู้ซึ่งเป็นลูกชายของลุงผินได้เข้าไปชมถ้ำแล้วเห็นว่าสวยงามมากจึงได้แจ้งไปยังทางอำเภอและจังหวัดทราบ ทางส่วนราชการจึงได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาสำรวจ และพบว่าถ้ำมีความสวยงามมาก โดยได้พบร่องรอยของชนเผ่าละว้าได้เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อในถ้ำนี้ได้มีการพบโครงกระดูกของสัตว์ต่างๆ ซึ่งบางชิ้นเป็นฟอสซิลของสัตว์บางชนิด และยังพบโครงกระดูกมนุษย์ถ้ำ ซึ่งคณะสำรวจได้เก็บรวบรวมและส่งไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ จากการตรวจพิสูจน์โครงกระดูกของมนุษย์ถ้ำได้พบว่ามีอายุมากกว่า 3,000 ปี ซึ่งเชื่อกันว่ามนุษย์ถ้ำต้องมีสายตาที่สามารถมองเห็นในความมืดได้ดี เพราะภายในถ้ำมืดมากเนื่องจากถ้ำละว้าแห่งนี้มีความยาวจากปากถ้ำจนไปถึงห้องสุดท้ายประมาณ 400 เมตร และภายในถ้ำแห่งนี้ไม่มีปล่องหรือช่องที่พอจะทะลุให้อากาศผ่านเข้าไปได้ ฉะนั้นอากาศจึงเข้าไปภายในถ้ำได้ทางเดียวคือจากปากถ้ำเท่านั้น อากาศภายในถ้ำจึงค่อนข้างอบ โดยเฉพาะห้องสุดท้าย
หลังจากที่ทำการสำรวจถ้ำแห่งนี้แล้ว ทางราชการจึงได้ให้คุณลุงกู้และคุณลุงผินผู้เป็นพ่อเป็นผู้ดูแลถ้ำแห่งนี้ เนื่องจากเป็นผู้พบถ้ำนี้เป็นคนแรก และมีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับถ้ำนี้ด้วย และถ้ำนี้ได้อยู่ในความดูแลของลุงผินและลุงกู้เป็นเวลาประมาณ 40 ปี ต่อมาไม่นานกรมป่าไม้จึงได้เข้ามากำหนดพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติและดูแลถ้ำละว้าแห่งนี้โดยเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยประมาณ 20 ปีแล้ว
เมื่อถ้ำแห่งนี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอุทยานแล้ว ทางอุทยานได้มีการปรับปรุงและบูรณะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเช่น ได้ทำบันไดซีเมนต์ทางขึ้นถ้ำจำนวน 114 ขั้น ได้มีการเดินกระแสไฟฟ้าเข้าไปภายในถ้ำตลอดแนว โดยได้ทำการแบ่งถ้ำเป็นห้องต่างๆ ทั้งหมด 5 ห้อง มีการกำหนดเส้นทางเดินเท้าและปิดกั้นบางจุดห้ามเข้า ห้ามปีนป่ายเข้าไปเหยียบย่ำ เพราะว่าจากอดีตที่ผ่านมาพบว่าบางแห่งมีความเสียหายที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์จำนวนมาก
ปัจจุบันถ้ำละว้าแห่งนี้ได้มีการแบ่งเป็น 5 ห้อง
1. ห้องหนุมาน ภายในถ้ำแห่งนี้มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก เนื่องจากในห้องนี้ได้มีหินงอกขึ้นมาลักษณะคล้ายกับลิงนั่งชูมือขวาอยู่ (ตามจินตนาการของหลายๆ ท่านที่พบเห็น) จึงเป็นที่มาของชื่อ ห้องหนุมาน
2. ห้องจระเข้ ห้องนี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่พอสมควรและมีห้องเล็กๆ แยกออกไปอีกหลายห้อง ภายในมีความสวยงามของหินงอกหินย้อย นอกจากนี้ยังมีทำนบหินปูนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งโดยที่ปกติในฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่เต็ม และในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมจะมีน้ำล้นจากทำนบหินปูนเป็นเหมือนน้ำตกไหลลงไปสู่ที่ลาดต่ำของพื้นถ้ำ มีความสวยงามมาก สาเหตุที่เรียกห้องนี้ว่า ห้องจระเข้ เพราะว่าภายในห้องนี้มีหินย้อยรูปทรงคล้ายจระเข้มาก และค่อนข้างมีขนาดใหญ่ชัดเจน
3. ห้องดนตรี ภายในห้องนี้จะมีหินย้อยจากเพดานถ้ำลงมาเป็นแผ่นบางๆ จำนวนมากและหินย้อยแต่ละแผ่นนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือเวลาใช้ปลายนิ้วเคาะเบาๆ จะมีเสียงเหมือนเสียงกลอง ซึ่งแต่ละเสียงจะแตกต่างกันไปตามลักษณะความหนาบางของแผ่นหินย้อยนั้นๆ แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทดลองเคาะฟังเสียงแผ่นหินกันมาก และบางคนก็เค่ะแรงทำให้แผ่นหินย้อยเกิดความเสียหายจำนวนมาก ณ ปัจจุบันนี้ทางอุทยานฯ จึงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเคาะแผ่นหินเอง โดยในการเข้าชมจะมีเจ้าหน้าที่นำชม และเคาะให้ชมเป็นตวอย่าง
4. ห้องค้างคาว ห้องนี้เป็นห้องที่ต่อจากห้องดนตรีซึ่งจะต้องลอดช่องเล็กๆ จากห้องดนตรีเข้าไปถายใน ภายในเป็นห้องโถงที่มีขนาดใหญ่และกว้างขวางมาก นอกจากนี้เมื่อเข้าไปแล้วจะพบกับโครงถ้ำดั้งเดิมที่เป็นหินแกรนิต และในห้องนี้ได้มีหินงอกหินย้อยมากบรรจบกันจนมองคล้ายเสาหินค้ำยันเพดานถ้ำเอาไว้ บริเวณพื้นถ้ำบางจุดเป็นหลุม บางจุดเป็นพื้นราบเรียบ บนพื้นเพดานถ้ำจะมีค้างคาวพันธุ์หน้ายักษ์ทศกัณฑ์อาศัยอยู่มากพอสมควร
5. ห้องม่านบรรทม เป็นห้องสุดท้ายของถ้ำละว้าแห่งนี้ หลายๆ คนบอกว่าเป็นห้องที่มีความสวยงามวิจิตรที่สุด เพราะเป็นห้องที่มีความใหญ่โต และกว้างขวางมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีหินงอกหินย้อยที่มีลักษณะต่างๆ และมีสีสันสวยงามมาก ถึงแม้ว่าสภาพของอากาศภายในห้องนี้จะอบและร้อนสักหน่อย แต่ก็มีอากาศหายใจได้เพียงพอ เนื่องจากห้องนี้มีความกว้างขวางมาก
จากห้องสุดท้ายนี้ก็ต้องเดินกลับตามเส้นทางเดิมและต้องเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เจ้าหน้าที่กำหนดเท่านั้น