แม่น้ำแควน้อยตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีต้นกำเนิดจากผืนป่าดงดิบทางตะวันตกตามแนวชายแดนไทย-พม่า แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำแควใหญ่เข้าสู่แม่น้ำแม่กลองที่ตัวเมืองกาญจนบุรีแล้วไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ริมสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคมีธรรมชาติที่งดงาม มีโขดเขาเกาะแก่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ร่องน้ำที่ลัดเลาะไปตามซอกเขาหินปูน ความแตกต่างของพื้นที่เลาะเกาะแก่งเป็นเหตุให้แม่น้ำสายนี้ไหลเชี่ยวและวกวน บางตอนจะเป็นหาดทรายยื่นออกมาในลำน้ำ เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
อีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว คือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดียอีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสะพานข้ามแม่น้ำแควเดิมได้รับความเสียหาย และรัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ. 2489 จนสามารถใช้งานได้ดังเดิม ปัจจุบัน มีการยกย่องให้สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ